บ้านเย็น เป็นอย่างไร???
ร้อน ร้อน ร้อน เปิดแอร์ด่วน!!! คิดว่าหลายคนคงเคยได้ยินคนบ่นประมาณนี้เวลากลับเข้าบ้านหรือออฟฟิศในขณะที่อากาศข้างนอกร้อนป้าดโท๊ะ!!! แน่นอนว่าสภาพอากาศบ้านเราในบางฤดูกาลนั้นเข้าขั้นร้อนตับแตกแหกเสื้อไม่ทัน ดังนั้นพอหลบเข้าอาคารได้สิ่งแรกที่ต้องทำคือเปิดแอร์เพื่อรับลมเย็น
รู้ไหมครับว่าการเปิดแอร์ในเวลาที่อากาศภายนอกร้อนจัดมีข้อเสียอย่างน้อย 2 ข้อ คือ เสียสุขภาพ เพราะร่างกายที่ต้องปรับตัวอย่างฉุกละหุกจากอุณหภูมิ 30 กว่าองศามาเป็น 20 กว่าองศา ทำให้มีความเสี่ยงสูงมากที่คุณจะป่วยเพราะร่างกายปรับตัวไม่ทัน และ เสียเงิน เพราะแอร์จะทำงานหนักมากในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อลดอุณหภูมิจากร้อนจัดเป็นเย็นจัด ทำให้ค่าไฟฟ้าพุ่งสูงปรี๊ด!!! วันนี้ผมมีข้อแนะนำดีๆว่าจะทำอย่างไรให้บ้านหรืออาคารเย็นโดยไม่ต้องเปิดแอร์ ปล. คำแนะนำเหล่านี้เหมาะกับอาคารที่กำลังจะสร้างใหม่ ส่วนอาคารที่สร้างเสร็จแล้วคราวต่อไปจะมาแชร์นะครับ
ง่ายๆเลยคือความร้อนมาจากทางไหนกันไว้ให้หมด ทุกท่านทราบใช่ไหมครับว่าความร้อนมาจากแสงอาทิตย์ (โธ่ใครๆก็รู้) อ๊ะๆ แต่รู้ไหมว่ามันเข้าบ้านช่องทางไหนบ้าง
หลังคา ถ้าหลังคาบ้านคุณแบน, ไม่มีช่องระบายความร้อน, ไม่ติดตั้งฉนวนกันความร้อน, สีทึมๆ, วัสดุเป็นซีเมนต์ซึ่งดูดความร้อนได้ดี… ถ้าเข้าข่ายเหล่านี้บางข้อบ้านจะร้อน แต่ถ้าเข้าข่ายทุกข้อก็ยากที่บ้านจะเย็นครับ บ่องตง! ถ้าอยากให้บ้านเย็นก็แค่ทำทุกอย่างให้ตรงข้ามกับที่เขียนมา ลองมาดูกันครับว่าทำอย่างไร
– อย่าออกแบบให้หลังคาบ้านรับแดดเต็มๆ โดยเฉพาะดาดฟ้าคอนกรีตนี่ตัวดีเลย ทางที่ดีควรออกแบบหลังคาให้เป็นทรงจั่ว, ปั้นหยา หรือเพิงหมาแหงนก็ยังพอรับได้ ความร้อนจะได้ไม่สะสมมากเกินไป
– ให้ปลายจั่วหลังคาและฝ้าชายคามีช่องระบายอากาศ เพื่อให้ความร้อนที่สะสมใต้หลังคาสามารถระบายออกไปได้
– ติดตั้งฉนวนกันความร้อนหรืออย่างน้อยก็แผ่นฟอยล์สะท้อนความร้อนใต้หลังคาเพื่อช่วยสกัดกั้นไม่ให้ความร้อนเข้าเต็มๆ อันนี้อาจต้องเสียค่าฉนวนเพิ่มแต่รับรองว่าคุ้มค่าแน่นอนครับ
– เลือกกระเบื้องสีโทนสว่าง เช่น สีขาวหรือเทาอ่อนเพราะสะท้อนความร้อนได้ดีกว่า กระเบื้องสีเทาเข้มหรือน้ำตาลเข้มซึ่งเป็นสีที่จะอมความร้อนไว้และถ่ายเทเข้าสู่ตัวบ้าน
– เลือกใช้กระเบื้องที่ไม่ใช่ซีเมนต์ มีกระเบื้องหลายยี่ห้อที่ไม่ได้เป็นกระเบื้องซีเมนต์ เนื่องจากซีเมนต์มีค่าการอมความร้อนสูงจึงทำให้ความร้อนสะสมใต้หลังคา ตัวอย่างกระเบื้องที่ไม่ใช่ซีเมนต์ก็เช่น กระเบื้องดินเผา, กระเบื้องที่ผลิตจากส่วนผสมของเส้นใยธรรมชาติ เป็นต้น
ผนัง โดยเฉพาะผนังด้านทิศใต้ กับทิศตะวันตก เนื่องจากเป็นทิศที่มีแดดจัด ความร้อนจะสะสมที่ผนัง แล้วค่อยๆปล่อยเข้าสู่ตัวอาคาร หากผนังบ้านเราเป็นผนังก่ออิฐมอญ (หรือที่เรียกกันว่า อิฐแดง) ที่มีความหนารวมฉาบแล้วประมาณ 10 เซนติเมตร ความร้อนก็จะเข้าสู่อาคารได้ง่าย แต่ถ้าเราใช้อิฐมวลเบารวมฉาบแล้วหนาประมาณ 20 เซนติเมตรก่อผนัง ความร้อนก็จะผ่านเข้าบ้านได้ยากกว่า ลองมโนดูว่าถ้าคุณเข้าไปในถ้ำจะรู้สึกเย็นมากเพราะผนังของถ้ำนั้นหนามาก ยากที่ความร้อนจะผ่านเข้าไปได้ (มโนถึงถ้ำเฉยๆนะครับ อย่ามโนว่าถ้ำมองนะคร้าบบคุณผู้ชาย เดี๋ยวเป็นเรื่อง) การใช้อิฐมวลเบาก่อผนังนั้นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาจสูงขึ้นบ้างแต่ทำให้บ้านเย็นกว่า และประหยัดค่าไฟจากการเปิดแอร์ได้มากกว่าแน่นอน
กระจก เช่นเดียวกับผนัง ถ้ากระจกทางทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นกระจกใสหนาประมาณ 6 มิลลิเมตร ความร้อนจะผ่านเข้าได้ง่าย ดังนั้นถ้ามีงบไม่มากแนะนำให้ใช้กระจกเขียวตัดแสงหรือไม่ก็ติดฟิล์มหรือติดม่านเอาก็พอช่วยได้ครับ แต่ถ้ามีงบประมาณแนะนำให้ใช้กระจกสองชั้นหรือที่เรียกกันว่า กระจกฉนวนความร้อน (Insulating glass) ซึ่งเป็นการนำกระจกสองแผ่นมาประกบกัน โดยมีเฟรมอลูมิเนียมคั่นกลาง (ฟังดูเป็นการเป็นงานมากเลยนะครับ) กระจกนี้ช่วยด้านการประหยัดพลังงาน ป้องกันการถ่ายเทความร้อนระหว่างภายในกับภายนอกอาคาร แต่ถ้าบังเอิญทางทิศใต้กับทิศตะวันตก โดยเฉพาะทิศตะวันตกไม่มีวิวสวยๆ แนะนำให้ก่อผนังทึบไปเลยครับ แบบนี้จะลดเรื่องความร้อนและประหยัดได้มากที่สุด
นอกจากนี้ยังมีวิธีการที่จะป้องกันความร้อนไม่ให้เข้าบ้านหรืออย่างน้อยก็ช่วยสกัดกั้นได้บ้าง เช่น การปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นวิธีที่ผมชอบมาก เพราะได้ความร่มรื่นและผ่อนคลายด้วย หรือจะเป็นการติดตั้งแผงกันแดดที่หน้าต่างก็ช่วยกันไม่ให้แดดมากระทบกระจกโดยตรง หรือบางบ้านอาจติดลูกหมุนระบายอากาศบนกระเบื้องหลังคาเพื่อดูดความร้อนออกไปจากใต้หลังคาก็ช่วยได้เหมือนกัน เพียงแต่บ้านท่านอาจดูเหมือนโรงงานเล็กน้อยนะจ๊ะ สุดท้ายวิธีที่ดีงามพระรามสี่ที่สุดวิธีหนึ่งคือ ให้สถาปนิกช่วยออกแบบแปลนให้ถูกทิศทางเพื่อให้บ้านท่านรับลมไม่รับแดด รับรองบ้านท่านจะเย็นสบาย อยู่เย็นเป็นสุขแน่นอนครับ
ทีนี้ก็ทราบกันแล้วว่าความร้อนจะเข้ามาในบ้านเราทางใดได้บ้างและมีแนวทางการป้องกันแล้ว แต่ที่สำคัญมากคืออย่าลืมกันความร้อนที่เข้ามาภายในใจเราด้วยนะครับ (โอ้โห หล่อเลย) ความร้อนในใจนี่น่ากลัวกว่าความร้อนในบ้าน เพราะต่อให้อากาศในบ้านเย็นแค่ไหน ถ้าใจร้อนรุ่มมันก็ไม่มีความสุขหรอก (อิลุ๊) ดังนั้นอย่าให้ความร้อนเกิดขึ้นทั้งในบ้านและในใจได้เป็นดีที่สุดครับ แล้วพบกันคราวต่อไปนะครับ…
ข้อมูลจาก: Baania.com
Sorry, the comment form is closed at this time.